ฟันปลอม (การใส่ฟัน)

ฟันปลอม คือ ฟันที่ถูกทำขึ้นโดยทันตแพทย์เพื่อใส่ทดแทนฟันธรรมชาติและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่สูญเสียฟันให้ดีขึ้น ทำให้สามารถยิ้มได้อย่างมั่นใจ สวยงาม และเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์ของฟันปลอม
1. ช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพ เพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ที่สูญเสียฟันธรรมชาติ โดยเฉพาะในฟันหน้า
2. ช่วยในการบดเคี้ยวทำให้สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ละเอียดขึ้น ทำให้กระเพาะอาหารไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป
3. ช่วยป้องกันการเกิดฟันที่อยู่ข้างเคียงล้มเอียงหรือฟันคู่สบยื่นยาวเข้ามาหาช่องว่างที่สูญเสียฟัน
ฟันปลอมมีหลายประเภทดังนี้
1. ฟันปลอมชนิดติดแน่น(ครอบฟัน)
เป็นฟันปลอมถาวรชนิดติดแน่นที่จะยึดในช่องปาก โดยผู้ที่ใส่ไม่สามารถถอดออกมาเพื่อทำความสะอาดภายนอกช่องปากได้ ฟันปลอมชนิดนี้จะยึดอยู่โดย การใช้ฟันธรรมชาติซี่ที่อยู่ข้างเคียงกับช่องว่างเป็นหลักในการยึดฟันปลอม ข้อดีของฟันปลอมชนิดนี้ ได้แก่ ฟันปลอมชนิดนี้จะไม่ขยับหรือหลวมหลุดในขณะพูดหรือเคี้ยวอาหาร ทำให้ผู้ที่ใส่มีความมั่นใจ ฟันปลอมจะมีขนาดชิ้นงานที่ค่อนข้างเล็ก ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ มีประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวค่อนข้างสูง เนื่องจากแรงจากการบดเคี้ยว จะถูกถ่ายทอดไปสู่ฟันธรรมชาติซี่ข้างเคียงที่ใช้เป็นหลักยึดฟันปลอมโดยตรง
อย่างไรก็ตามฟันปลอมชนิดนี้จะมีข้อเสียที่สำคัญมาก ได้แก่ การที่จะฟันธรรมชาติที่อยู่ข้างเคียงจะต้องถูกกรอแต่งเพื่อให้มีขนาดเล็กลงเพื่อใช้เป็นฟันหลักสำหรับยึดฟันปลอมติดแน่น ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อฟันธรรมชาติต่อไปได้ นอกจากนี้แล้วผู้ที่ใส่ฟันปลอมชนิดนี้จะต้องสนใจดูแลความสะอาดของฟันปลอมมากเป็นพิเศษ เนื่องจากฟันปลอมไม่สามารถถูกถอดออกมาเพื่อทำความสะอาดภายนอกช่องปากได้
ผู้ที่เหมาะสมกับฟันปลอมชนิดนี้ ได้แก่ ผู้ที่สูญเสียฟันธรรมชาติไปเป็นจำนวนน้อย เพียง 1-2 ซี่ ต่อ 1 ช่องว่างเท่านั้น และฟันธรรมชาติที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลังช่องว่างจะต้องอยู่ในสภาพดี ไม่มีปัญหาโรคเหงือกอักเสบหรือฟันผุอย่างรุนแรง และจะต้องเป็นผู้ที่สามารถดูแลทำความสะอาดภายในช่องปากได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
2. ฟันปลอมชนิดถอดได้
เป็นฟันปลอมชนิดที่สามารถถอดออกมาเพื่อทำความสะอาดข้างนอกช่องปากได้ มีทั้งชนิดชั่วคราวที่ทำด้วยพลาสติกและชนิดถาวรที่ทำด้วยโลหะ
ข้อดีของฟันปลอมชนิดนี้ ได้แก่ ช่วยให้ผู้ที่สวมใส่สามารถดูแลรักษาความสะอาดได้ง่าย ขั้นตอนในการทำไม่ยุ่งยาก ไม่เสียเวลามาก และมีค่าใช้จ่ายในการทำที่ค่อนข้างต่ำกว่าฟันปลอมชนิดอื่นๆ แต่ฟันปลอมชนิดนี้จะมีข้อเสียที่สำคัญ ได้แก่ ชิ้นงานฟันปลอมจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าฟันปลอมชนิดอื่น อาจก่อให้เกิดความรำคาญในขณะพูดหรือการเคี้ยวอาหาร ประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวจะต่ำกว่าฟันปลอมชนิดอื่น เนื่องจากแรงจากการบดเคี้ยวส่วนใหญ่จะไปสู่สันเหงือกที่รองรับฟันปลอมซึ่งสามารถรับแรงบดเคี้ยวได้น้อยกว่าฟันธรรมชาติ นอกจากนี้ในบางครั้งยังอาจมีปัญหาเรื่องการขาดความสวยงามได้ เนื่องจากจะต้องมีส่วนตะขอของฟันปลอมไปโอบเกี่ยวกับฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่บางซี่ และเมื่อใช้งานฟันปลอมไปนานอาจมีปัญหาเรื่องการหลวมขยับหรือหลุดในขณะใช้งานได้
ผู้ที่เหมาะสมกับฟันปลอมชนิดนี้ ได้แก่ ผู้ที่มีการสูญเสียฟันธรรมชาติไปเป็นจำนวนมาก จนไม่สามารถเหลือเพียงพอสำหรับทำฟันปลอมชนิดติดแน่นได้ ผู้ที่เคยมีปัญหาโรคเหงือกอักเสบหรือฟันผุอย่างรุนแรงหลายซี่ ตลอดจนผู้ที่ไม่สามารถทำความสะอาดช่องปากได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากฟันปลอมชนิดนี้จะดูแลง่ายและไม่ส่งผลเสียหายอย่างรุนแรงต่อฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่
3. ฟันปลอมทั้งปาก
ฟันปลอมชนิดนี้จะใช้ในผู้ป่วยที่ไม่มีฟันธรรมชาติหลงเหลืออยู่เลย
4. ฟันปลอมชนิดรากเทียม
เป็นฟันปลอมชนิดถาวรที่จะยึดแน่นในช่องปากโดยการยึดกับกระดูกขากรรไกรใต้ช่องว่างที่จะใส่ฟัน การใส่ฟันชนิดนี้จะคล้ายคลึงกับการปลูกฟันธรรมชาติที่สูญเสียไปขึ้นมาใหม่ เนื่องจากจะเป็นการจำลองลักษณะของฟันเดิมทั้งในส่วนของตัวฟันและรากฟัน
ข้อดีของฟันปลอมชนิดนี้ ได้แก่ ฟันที่ใส่จะมีความสวยงามใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากเนื่องจากเป็นการสร้างเลียนแบบฟันเดิมทั้งในส่วนของตัวฟันและรากฟัน ประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวจะใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติเนื่องจากแรงบดเคี้ยวจะถูกถ่ายทอดไปสู่กระดูกขากรรไกรที่อยู่ข้างใต้โดยตรง นอกจากนี้แล้วฟันปลอมชนิดนี้จะค่อนข้างมีความคงทนแข็งแรง ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อฟันธรรมชาติและเหงือกที่อยู่โดยรอบเนื่องจากไม่ต้องมีการกรอแต่งฟันธรรมชาติข้างเคียง
ข้อเสียของฟันปลอมชนิดนี้ ได้แก่ การทำค่อนข้างใช้เวลานานกว่าฟันปลอมชนิดอื่น โดยจะใช้เวลาประมาณ 1-4 เดือน เนื่องจากจะต้องรอให้กระดูกโดยรอบยึดกับรากเทียมอย่างเต็มที่ก่อนที่จะใส่ฟันปลอม ค่าใช้จ่ายของการทำรากเทียมจะสูงกว่าของฟันปลอมชนิดอื่น นอกจากนี้แล้วผู้ที่มีปัญหาในการดูแลสุขภาพช่องปาก ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานบางชนิด ผู้ป่วยที่เคยถูกฉายรังสีรักษาในบริเวณใบหน้า ตลอดจนผู้ที่มีโรคทางระบบบางอย่าง อาจส่งผลเสียต่อการยึดติดของรากเทียมได้เช่นกัน ดังนั้นรากเทียมจึงไม่สามารถใส่ได้ในผู้ป่วยทุกราย
ผู้ที่เหมาะสมกับฟันปลอมชนิดนี้ ได้แก่ ผู้ที่สามารถดูแลความสุขภาพช่องปากของตนเองได้เป็นอย่างดี ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่เนื่องจากบุหรี่จะส่งผลเสียต่อการยึดติดของรากเทียม ผู้ที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการเป็นโรคทางระบบบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคทางกระดูกบางอย่าง ดังนั้นผู้ที่สนใจจะทำรากเทียมจึงจำเป็นต้องคุยปรึกษากับทันตแพทย์อย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงมือทำการจะเลือกใช้ฟันปลอมชนิดไหนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น สภาพฟันและเหงือกที่เหลืออยู่ จำนวนฟันที่หายไป ความพึงพอใจของผู้ป่วย ราคา เป็นต้น
สำหรับคนที่ใส่ฟันปลอมอยู่แล้ว ก็ควรจะดูแลทำความสะอาดฟันปลอมอย่างถูกวิธีด้วย โดยคนที่ใส่ฟันปลอมชนิดติดแน่นแบบสะพานฟัน (bridge) อยู่ ู่ก็ควรจะทำความสะอาดส่วนใต้ฟันปลอมด้วยเครื่องมือร้อยไหมขัดฟัน(floss theader) ร่วมกับไหมขัดฟันหรือใช้ superfloss ก็ได้ วิธีใช้นั้นให้ปรึกษากับทันตแพทย์ได้ทุกท่านครับ
ในคนที่ใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ทั้งแบบบางส่วนหรือแบบทั้งปาก ก็ควรจะถอดออกมาล้างทำความสะอาด ทุกครั้งหลังจากรับประทานอาหารและก่อนนอนก็ควรถอดออกนำมาทำความสะอาดโดยใช้ แปรงสีฟันกับน้ำสบู่อ่อนๆแปรงที่ฟันปลอม ถ้าช่วงไหนที่ไม่ได้ใส่ฟันฟลอมก็ควรนำไปใส่ไว้ในแก้วน้ำที่มีน้ำอยู่ข้างในหรือจะใช้เม็ดฟู่ที่ใช้สำหรับ ทำความสะอาดฟันปลอมร่วมด้วยก็ได้ ตื่นขึ้นมาค่อยนำมาใส่อีกครั้ง ห้ามแช่หรือล้างฟันปลอมในน้ำร้อนเพราะจะทำให้ฟันปลอมเสียรูปและใส่ไม่เข้าที่ ไม่ควรใส่ฟันปลอมขณะนอนเพื่อป้องกันการหลุดลงคอ ฟันผุ และเหงือกอักเสบครับ
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : การบูรณะช่องฟันที่หายไป (คลิก)